2022-12-10 11:25:23
ความเป็นมาของพวงมาลัย ศิลปะปราณีตจากดอกไม้
ศิลปะการร้อยดอกไม้หรือ “พวงมาลัย” นั้น เริ่มแพร่หลายในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กล่าวว่า “ท้าวศรีจุฬาลักษณ์” ผู้ได้รับฉายาว่า “นางนพมาศ” มเหสีเอกของพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นผู้ทำให้ศิลปะการร้อยพวงมาลัยแพร่หลาย ซึ่งชาวไทยได้รับอิทธิพลการร้อยพวงมาลัยมาจากประเทศอินเดีย พร้อมๆกับการเผยแพร่ศาสนาพุทธ โดยลักษณะของพวงมาลัยไทยจะมีความปราณีตละเอียดอ่อน แตกต่างจากพวงมาลัยอินเดียที่ทำจากดอกไม้ขนาดใหญ่ ไม่ใช้เข็มร้อย เพราะมีความเชื่อว่าไม่ควรหักดอกไม้ จึงใช้วิธีนำก้านดอกไม้มามัดต่อๆกันจนเป็นพวงมาลัยซึ่งมีขนาดใหญ่พอจะสวมคอเทวรูปขนาดเท่าคนจริงได้ ส่วนของไทยนั้น ด้วยภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้ดอกไม้ในประเทศไทยมีขนาดเล็กกว่า ออกดอกเยอะ มีกลิ่นหอม จึงต้องประยุกต์ใช้วิธีร้อยเข็มทำเป็นพวงมาลัยแทน
ค่านิยมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างไทยกับอินเดียอีกอย่าง คือ การร้อยพวงมาลัยฉบับอินเดียจะนิยมให้ผู้ชายทำ แต่การร้อยพวงมาลัยของไทยเราเป็นที่นิยมในหมู่อิสตรีเท่านั้น ยามว่างเมื่อใดหญิงชั้นสูงแต่ละบ้านจะมาจับกลุ่มประชันฝีมือการร้อยพวงมาลัยกันอย่างจริงจัง ซึ่งบุคคลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการร้อยพวงมาลัยให้หลากหลายงดงามมากขึ้น คือ “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ” หรือ “พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงถือเป็นยุคทองของการร้อยพวงมาลัยเลยก็ว่าได้ แตกต่างกับปัจจุบันที่การร้อยพวงมาลัยเริ่มกลายเป็นเพียงงานอดิเรกเฉพาะกลุ่มไปแล้ว
สำหรับประเภทของพวกมาลัยสามารถจำแนกได้ ดังต่อไปนี้
1.มาลัยชำร่วย
มีขนาดเล็ก นิยมมอบเป็นของที่ระลึกตามงานต่างๆ
2.มาลัยชายเดียว
ลักษณะพวงกลม แต่มีอุบะห้อยเพียงชายเดียว บ้างเรียก มาลัยข้อพระกร, มาลัยคล้องแขน, มาลัยคล้องมือ หรือมาลัยมือ นิยมใช้คล้องแขนและบูชาพระ
3.มาลัยสองชาย
มาลัยพวงกลมที่มีริบบิ้นหรืออุบะห้อยสองชาย บ้างเรียกว่า “มาลัยคล้องคอ” หากใช้คล้องคอบ่าวสาวจะถูกเรียกว่า “มาลัยบ่าวสาว” จึงเห็นบ่อยครั้งในงานมงคลสมรส อาจใช้เพื่อคล้องคอหรือบูชาแม่ย่านาง รวมถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้เช่นกัน
ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีการจำแนกตามรูปแบบการร้อยและลักษณะของพวงมาลัยอีก เช่น มาลัยซีก, มาลัยแบน, มาลัยสามเหลี่ยม, มาลัยโซ่, มาลัยเปีย, มาลัยครุฑ เป็นต้น
แม้ประวัติศาสตร์ของพวงมาลัยจะยาวนานนับร้อยปี แต่ลูกหลานชาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ศิลปะการร้อยพวงมาลัยไว้ ดังจะเห็นได้จากความพยายามในการรังสรรค์รูปแบบพวงมาลัยและสรรหาวัตถุดิบใหม่ๆมาประยุกต์ใช้อยู่เสมอ และยังให้คุณค่าพวงมาลัยในฐานะสิ่งแทนใจหรือสัญลักษณ์สื่อถึงความเคารพนับถือ มากกว่าความสวยงามในฐานะมรดกศิลป์ของไทยชิ้นหนึ่งเท่านั้น
บริการอื่น ๆ ของเรา